messager
 
องค์การบริหารส่วนตำบลสันโค้ง call ข้อมูลการติดต่อ



ยินดีต้อนรับ เข้าสู่เว็บไซต์ องค์การบริหารส่วนตำบลสันโค้ง อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา
check_circle สถานที่ท่องเที่ยวตำบลสันโค้ง

วัดพระธาตุแสงแก้วมงคล ประวัติเดิมของวัด วัดพระธาตุแสงแก้วมงคล สร้างเมื่อ พ.ศ.2475 สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 48 ไร่ เดิมเป็นพุธสถาน อันประกอบด้วยพระเจดีย์พระวิหาร ซึ่งมีซากปรังหักพังเหลือเพียงฐานอิฐซากวิหาร ตั้งอยู่บนเนินเขาเตี้ยๆ ทางทิศตะวันออกของตัวอำเภอดอกคำใต้ในปัจจุบันและมีสันเขาใหญ่ทอดยาวโอบล้อม รอบทุกด้านดุจกำแพงธรรมชาติ เป็นโบราณสถานที่มีอายุอยู่ระหว่างยุคของพ่อขุนรามงำเมืองกับพญาธุทธิเจียง ราว๕๐๐-๗๐๐ปีมาแล้ว ประมาณปีพ.ศ.๑๘๔๙-๒๐๔๙ โดยอาศัยหลักฐานเทียบเคียงจาก ก้อนอิฐ เหล็กลิ่ม และเครื่องถ้วยชาม ไหสังคโลก จากวัดใกล้เคียงที่มีหลักฐานศิลาจารึก ในยุคสมัยนั้นถือว่าความเจริญรุ่งเรือง ของพระพุธศาสนาคือวิวัฒนาการความเจริญของบ้านเมือง ฉะนั้นในยุคที่บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข จึงปรกฏมีหลักฐานทางพระพุธศาสนามากมาย เช่นวัดวาอารามเจดียสถาน ดังนั้นความสำคัญของบ้านเมืองสังคมความเจริญผู้คนจึงถือจุดรวมศูนย์กลางอยู่ ที่ศาสนาและวัฒนธรรม และความศรัทธาปสาทะทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ มโนธรรมสะท้อนภาพจิตวิญญาณอันสูงส่งต่อพระพุธศาสนา ทั่วทุกหัวระแหงจึงมีแต่โบสถ์ วิหารเจดีย์ วัดวาอารามอยู่ดาษดื่นทั่วไปที่มาของวัดพระธาตุแสงแก้วมงคลมงคลแต่ก่อนนั้น ก็ล่มสลายไปตามกาลเวลาต่อมาก็เลือนลางถูกธรรมชาติ ต้นไม้ เครือเขาขึ้นปกคลุมเหลือทิ้งไว้แต่สิ่งก่อสร้างที่ปรักหักพังคือร่องรอยแห่ง ความเจริญของพระพุธศาสนาที่บรรพบุรุษบูรพาจารย์ได้รังสรรค์ประติมากรรม ศิลปกรรมแห่งประวัติศาสตร์ไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาและค้นคว้า จุดเริ่มบูรณะการสร้างวัด ก่อนที่จะมาปฏิสังขรณ์สร่างเป็นวัดขึ้น ประมาณปีพ.ศ.๒๔๖๖ พุธสถานแห่งนี้ได้รกร้างอยู่ท่ามกลางป่าเขา ต่อมามีชาวบ้านมาอาศัยทำสวนไร่นาไม่ห่างจากวัดเท่าไร ในยามคำคืนชาวบ้านจะเห็นฉัพพรรณรังสีเป็นรัศมีจากองค์พระธาตุเจดีโบราณขึ้น อย่างสวยงามจึงเป็นที่มาของชื่อวัด สมัยเมื่อครูบาเจ้าศรีวิชัยนักบุญแห่งล้านนาไทยได้จาริกแสวงบุญมายังถิ่นนี้ ก็เคยแวะพักผ่อนให้ศิลให้พรชาวบ้านเป็นที่ประทับใจ จนชาวบ้านบางคนอยู่ปฏิบัติถือศิลกินเจเหมือนฤาษีโยคีอยู่พักใหญ่ หลังจากนั้นก็มีพระเณรมาพำนักอยู่บางคราวห่างกันราว๑๐กว่าปี เป็นที่สังเกตสถานที่แห่งนี้พระเณรผู้มาอยู่ทุกครั้งจะต้องกินเจฉันมื้อ เดียว ต่อมาได้มีครอบครัว คุณพ่ออินปั๋น ปินใจ ได้มาอยู่บริเวณใกล้วัดร้างแห่งนี้แผ้วถางที่ทำพืชไร่และได้ปรับพื้นที่บน วัดจนหมดเกลี้ยง อยากจะบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุเจดีย์ขึ้นมาใหม่เพื่อรักษาโบราณสถานก็มา พ้องกันพอดี ในช่วงนั้นสามเณรอานันท์ ฟองแก้ว ได้กลับจากสวนโมกขพลารามอำเภอชัยยา จังหวัดสุราษธานี ได้มาบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ตรงหอบูรพาจารย์และพึ่งอุปสมบทได้๓พรรษา อายุขณะนั้น ๒๖ปีขณะเดียวกันที่ คุณพ่ออินปั๋น ปินใจ ได้นิมนต์พระอานันท์ พุทธธัมโม ให้เป็นประธานบูรณะก่อสร้างองค์พระธาตุเจดีย์โดยสร้างครอบองค์เดิมและได้ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุวัตถุมงคลมากมาย พร้อมกันนี้ได้ปรึกษาการตั้งชื่อวัดใหม่ โดยถือเอาศุภนิมิตที่ชาวบ้านเห็นฉัพพรรณรังสีรัศมีขององค์พระสารีริกธาตุจน เป็นที่โจษขานอยู่เวลานั้นเป็นสำคัญตั้งชื่อว่า วัดพระธาตุแสงแก้วมงคล

อ่างเก็บน้ำห้วยชมพู-ผาเทวดา ที่ตั้งของอ่างเก็บน้ำห้วยชมพู-ผาเทวดา อยู่ในเขตพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอ อบต.สันโค้ง อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา ที่นี่มีกิจกรรมและแหล่งท่องเที่ยวหลายอย่าง มีการเดินป่า เที่ยวน้ำตก ชมทุ่งทานตะวันในช่วงฤดูหนาว ประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ โดยท้องทุ่งบริเวณตำบลสันโค้งจะสวยงามสว่างสดใสเต็มไปด้วยดอกทานตะวันบานท่ามกลางขุนเขารายรอบ เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวมาชมความงามและถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเชิงเกษตรชุมชนสันโค้ง อ่างเก็บน้ำห้วยชมพู-ผาเทวดา อยู่ห่างจากอำเภอดอกคำใต้ 12 กิโลเมตร โดยใช้เส้นทางดอกคำใต้-จุน ไปตามทางหลวงหมายเลข 1021 ให้แยกเข้าบ้านจำไก่ทางขวามือ กิโลเมตรที่ ๒ ห่างจากอำเภอดอกคำใต้ ถนนผ่านทุ่งนาเป็นระยะทาง 6 กิโลเมตร จนถึงสี่แยกบ้านจำไก่ จากนั้นให้ตรงขึ้นไปอีก 4 กิโลเมตร จะถึงบริเวณอ่างเก็บน้ำที่เป็นที่ตั้งศูนย์บริการท่องเที่ยวเชิงเกษตร

วัดพระธาตุหลวงจำไก่ วัดพระธาตุหลวงจำไก่ เป็นวัดเก่าแก่โบราณสร้างมานานหลายร้อยปี โดยตั้งอยู่ภายในบริเวณเวียงโบราณชาวบ้านเรียกว่า “เวียงชมพู” เดิมมีสภาพทุรกันดาร รกร้างเป็นป่ารกชัฏเต็มไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ มีวัชพืชขึ้นปกคลุมหนาแน่น สถานที่แห่งนี้ ชาวบ้านไม่กล้าเข้าไปใกล้เพราะมีความเชื่อว่าผีดุ เจ้าที่แรงและยังพบซากปรักหักพักของซากเจดีย์ ซากโบสถ์ซึ่งเหลือเพียงกองอิฐกองดิน ทับถมกันอยู่มีเศษชิ้นส่วนพระพุทธรูปหิน มีสภาพเศียรหัก องค์แตกแขนขาด เป็นภาพที่น่าเศร้าสลดสังเวชใจอย่างยิ่ง ยังมีเหตุมหัศจรรย์ปรากฏอยู่ในยามค่ำคืน ชาวบ้านมักจะเห็นดวงแก้ว (ดวงไฟ) ลักษณะเป็นดวงกลมมีแสงสว่างมากล่องลอยไปมาอยู่บริเวณวัดร้างแห่งนี้ ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ดังนั้นศรัทธาชาวบ้านตลอดจนชาวพุทธทั้งหลาย จึงได้ร่วมใจกันฟื้นฟู บูรณปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ขั้นมาอีกครั้ง เพื่อจรรโลงพระพุทธศานาให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป ในปี พ.ศ. 2538 มีพระธุดงค์จาริกมาปักกลดอาศัยอยู่ และชาวบ้านได้นิมนต์ท่านเพื่อปฏิบัติธรรม ชาวบ้านได้ช่วยกันสร้างเพิงที่พักอาศัยหลังเล็กๆต่อมามีญาติโยมมาถวายพระพุทธรูปและหลวงปู่ฤาษี ต่อมามีคุณสมศักดิ์ ดูเบย์ ซึ่งเป็นคนอินเดียได้มาขายมุ้งในบริเวณหมู่บ้านมีชาวบ้านแนะนำให้ไปขอโชคลาภ ซึ่งคุณสมศักดิ์ ดูเบย์ได้ขี่จักรยานไปหาพระรูปนั้น (หลวงพ่อศรีสวัสดิ์) ซึ่งมีศรัทธามากราบไหว้จำนวนมาก และได้พบหลวงพ่อ คุณสมศักดิ์ ได้กราบเรียนถามว่า หลวงพ่อทำไมไม่บูรณะองค์พระธาตุเจดีย์ซึ่งเจดีย์นั้นมีต้นไม้และวัชพืชรกรุงรัง หลวงพ่อตอบว่าไม่กล้ายุ่งเกี่ยวกับเนินดินบริเวณนั้นเพราะมีอาถรรพ์มาก หลังจากนั้นอีกระยะหนึ่งท่านก็ย้ายจากวัดไปต่อจากนั้นก็มีพระธรรมยุติมาอยู่ ไม่นานก็ย้ายไปอีก ในปี พ.ศ. 2544 มีพระธุดงค์ (ธรรมยุติ) มาปักกลดชาวบ้านได้นิมนต์มาจำพรรษา (พระอาจารย์ธวัช) พระรูปนี้เป็นคนภาคอีสานจึงได้จำพรรษา ชาวบ้านจำไก่มีคนอีสานจำนวนมาก ต่อมาท่านพระธวัช ได้ปรึกษาหารือกับชาวบ้านและลุงศักดิ์เพื่อหาผู้มีจิตศรัทธาในการสร้างพระเจดีย์จึงได้ชวนคุณชาญชัย ภู่มีเกียรติ เป็นผู้นำชาวบ้าน พ่อค้า ประชาชน ในจังหวัดพะเยาและศรัทธาทางอำเภอดอกคำใต้ ร่วมกับหลวงพ่ออนันต์วัดห้วยทรายเลื่อน จัดผ้าป่าและวางศิลาฤกษ์ ก่อสร้างพระเจดีย์ ( ทอดผ้าป่าครั้งแรกได้เงินประมาณ 80,000 บาท) จากนั้นก็มีผ้าป่ากองเล็กเมื่อมีทุนสนับสนุนก็สร้างไปเรื่อย ต่อมา การก่อสร้างได้ความสูงประมาณ 5 ถึง 6 เมตร (การก่อสร้างเป็นเจดีย์ตันทำให้มีน้ำหนักมาก ซึ่งการก่อสร้างได้สร้างทับครอบเจดีย์ของเดิม ซึ่งเป็นเนินดิน มีเศษอิฐเศษปูนทับถมกันและมีหลุมซึ่งเกิดจากมีผู้มาลักลอบขุดของโบราณจึงได้ถมหลุมไม่มีการตอกเสาเข็ม จึงทำให้พระเจดีย์ทรุดเอียง จึงได้หาวิธีปักเสาหินซึ่งเป็นเสาไฟฟ้าไม่มีตระแกรงตีนเสาจำนวน 56 ต้น เมื่อประสบปัญหาและขาดแคลนปัจจัยสนับสนุนจึงได้หยุดการก่อสร้าง จากนั้นไม่นานพระธวัชก็ได้ย้ายออกไปจำพรรษาที่วัดอื่นทางภาคอีสาน ทำให้วัดร้างอีกครั้งในปี พ.ศ. 2548 ชาวบ้านได้นิมนต์พระอำพร อนาลโย ให้มาจำพรรษา คณะคุณศักดิ์ คุณชาญชัยได้ปรึกษาหารือกับคุณภัทราวดี วงศ์มีเกียรติ ช่วยบอกบุญหาปัจจัยมาช่วยสร้างวัดพระธาตุหลวงจำไก่ ต่อมามีคณะของท่านอาจารย์พิชัยและคุณอารยา พร้อมคณะศรัทธาจากกรุงเทพ ฯ – พะเยา ได้มาช่วยสร้างพระธาตุเจดีย์ต่อ แต่ติดขัดเรื่องโครงสร้างพระธาตุเจดีย์และรูปแบบพระเจดีย์ คุณศักดิ์ คุณชาญชัย และคุณพิบูลย์ จึงได้มาติดต่อขอให้คุณอุดม ช่วยออกแบบโครงสร้างและรูปแบบพระธาตุเจดีย์ให้ใหม่ และขอให้ช่วยควบคุมการก่อสร้างพระเจดีย์ด้วยซึ่งระหว่างสร้างพระเจดีย์ก็ได้สร้างศาลาปฏิบัติธรรม ศาลาประดิษฐานเจ้าแม่กวนอิม ซุ้มพระพุทธนิมิตรจฤทธิ์ ศาลาประดิษฐานแม่พระธรณี ทำเสาอโศก 2 ต้น พระธาตุเจดีย์หลวง และสาธารณูปโภค สิ่งก่อสร้างอื่นๆ จนเสร็จสมบูรณ์แล้วถวายไว้ในพระพุทธศาสนา ในปี พ.ศ. 2551 ปี พ.ศ. 2552 หลังจากสร้างวัดพระธาตุหลวงจำไก่เสร็จแล้ว ท่านอาจารย์พิชัยและคณะอารยา พร้อมคณะศรัทธาจากกรุงเทพ ฯ และชาวดอกคำใต้ได้ทอดกฐินที่วัดบุญเกิด แล้วสร้างองค์พระธาตุเจดีย์ศรีอริยเมตตรัยจนสำเร็จและถวายไว้ในพระพุทธศาสนา ปี พ.ศ. 2557 หลวงตาพร ได้ย้ายออกไปจำพรรษาที่วัดอื่น ทำให้วัดพระธาตุหลวงจำไก่กลายเป็นวัดร้างอีกครั้งหนึ่ง ในเดือน มกราคม พ.ศ. 2558 ศรัทธาชาวบ้านได้นิมนต์พระศุภกร ปัญญาวโร (ธรรมยุต) เพื่อให้ท่านมาพัฒนาวัดและเผยแพร่พระธรรมสืบไป

ประเพณีแห่ดอกไม้ของหมู่บ้าน ประเพณีแห่ดอกไม้ของหมู่บ้าน บ้านใหม่ราษฏร์บำรุง หรือ บ.จำไก่ เป็นหมู่บ้านที่ย้ายถิ่นฐานมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 ทั้งชาวไทยอีสานและชาวผู้ไท ซึ่งมาจากจังหวัดกาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น นครราชสีมา นครพนม และมุกดาหาร บ้านใหม่ราษฎร์บำรุงอยู่ห่างจากอำเภอดอกคำใต้ประมาณ 10 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดพะเยาประมาณ24 กิโลเมตร มีจำนวนครัวเรือน 140 หลัง จำนวนประชากรทั้งสิ้น 632 คน ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตร ทำนา ทำไร่ ทำสวน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าสงวน สภาพอากาศจึงมีความเหมาะสมต่อการทำเกษตร โดยชุมชนคงอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและประเพณีเดิมของตนเองอยู่ ประชากรอาศัยแบบช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เกิดเครือข่ายขนาดใหญ่ มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ อยู่กันแบบเครือญาติ ศิลปวัฒนธรรมประเพณีที่ยังอนุรักษ์ไว้ เช่น วัฒนธรรมการกินอยู่ ภาษาพูดของท้องถิ่น วัฒนธรรม ประเพณีที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมา...ประกอบด้วย ประเพณีแห่ดอกไม้ในวันสงกรานต์ บุญข้าวจี่ บุญกองข้าว บุญเบิกบ้าน การทอผ้า การทอเสื่อกก การจักสาน ศิลปวัฒนธรรม ที่โดดเด่นคือ การแสดงดนตรีโปงลาง จากวัฒนธรรมที่หลากหลาย จึงได้ร่วมกันจัดโฮมสเตย์ เพื่อให้ผู้ที่สนใจศึกษาวิถีชีวิตแบบอีสานและล้านนา การท่องเที่ยวภายในชุมชน ประกอบด้วย วัดพระธาตุแสงแก้วมงคล วัดพระธาตุหลวงจำไก่ อ่างเก็บน้ำห้วยชมพู หัตถกรรมพื้นบ้าน (ทอผ้า จักสาน ทอสื่อกก) ศิลปะการแสดงดนตรีโปงลาง แปลงเกษตรการทำนา ภูเขา (หน้าผาเทวดา) ประเพณีแห่ดอกไม้ วันสงกรานต์ พิธีกรรมบายศรีสู่ขวัญ การบริหารจัดการท่องเที่ยว..ดำเนินการโดยชุมชนซึ่งมีกลุ่มต่างๆ เข้ามาร่วมบริหารจัดการและแบ่งผลประโยชน์ร่วมกัน เช่น โฮมเสตย์ กลุ่มแม่บ้านจัดการเรื่องอาหาร กลุ่ม OTOP จัดการจำหน่ายสินค้าOTOP อบต.จัดการเรื่องอุปกรณ์ รถ เจ้าหน้าที่ กลุ่มดนตรีโปงลางจัดการเรื่องการแสดง

× องค์การบริหารส่วนตำบลสันโค้ง